วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล)

สำหรับผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย จัดอบรมด้วยภาษาไทย


สวนโมกขพลาราม ร่วมกับ ธรรมทานมูลนิธิ จัดให้มีการอบรมสมาธิภาวนาแบบอานาปานสติ สำหรับผู้สนใจศึกษาธรรมะ และต้องการปฏิบัติจนเห็นผลด้วยตนเอง

สมาธิแบบอานาปานสตินี้ เป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติจนตรัสรู้ และทรงแนะนำให้ศึกษาปฏิบัติให้มาก เพราะอำนวยประโยชน์ทั้งด้าน ความสงบ (สมถะ) และ ความรู้รอบ (วิปัสสนา)

“เอวํ ภาวิตา โข ภิกฺขเว อานาปานสติ, เอวํ พหุลีกตา;
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล;
มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา, ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่;
อิติ ด้วยประการฉะนี้แล“

จุดประสงค์ของการอบรม
เพื่อชี้แนะหลักธรรมที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้จริง และเพื่อฝึกปฏิบัติอานาปานสติภาวนา จนสามารถสัมผัสความสงบเย็นภายใน และความอิสระของจิตใจ อันเกิดจากความประจักษ์ในสัจจธรรม

รูปแบบการจัดอบรม
ถือแนวทางการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้สมบูรณ์ ครบถ้วน ตามระบบองค์รวมแห่งพุทธธรรมทั้งสามด้าน กล่าวคือศีล-สมาธิ-ปัญญา อันจะนำไปสู่วิถีชีวิตที่สุขสงบเย็น ก้าวหน้า อย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน ทั้งส่วนตนและสังคมโดยรวม กล่าวคือ
ศีล : ฝึกการใช้ชีวิตที่สงบเย็น เรียบง่าย เป็นอิสระจากพันธนาการทางวัตถุส่วนเกินให้มากที่สุด ให้ความสำคัญต่อการรักษาปฏิบัติตามระเบียบวินัยอันดีของชุมชน ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นประโยชน์ ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง โดยถือแนวปฏิบัติศีลแปดเป็นบรรทัดฐานขั้นต่ำ.
สมาธิ : ฝึกหัดพัฒนายกระดับความมีคุณภาพและประสิทธิภาพของจิต ทั้งทางด้านสติและสมาธิด้วยระบบอานาปานสติภาวนา โดยฝึกหัดปฏิบัติในทุกอิริยาบถของการดำรงชีวิตตลอดระยะเวลาของการอบรม.
ปัญญา : ด้วยการนำเสนอหลักธรรมที่เป็นแก่นหลักของพุทธธรรม เพื่อเป็นแนวทางและพื้นฐานความรู้ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ จนเกิดการพัฒนาปัญญาญาณ รู้เห็นแจ้งสภาวะตามความเป็นจริงของสัจธรรมแห่งชีวิตและสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง.
อนึ่ง จุดมุ่งหมายอันเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการอบรม ได้แก่การพัฒนาสภาวะความสงบเย็นภายในจิตใจของผู้ร่วมกิจกรรมเป็นพื้นฐานเบื้องต้น จึงถือเป็นข้อตกลงที่เคร่งครัด ในการงดพูดจา ติดต่อสื่อสาร กับบุคคลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกตลอดระยะเวลาของการอบรม ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องถือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม

การเป็นอยู่
การใช้ชีวิตเป็นอยู่ ณ ธรรมาศรมนานาชาติ ซึ่งเป็นชุมชนแห่งพุทธะ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) ชุมชนแห่งสันติสงบร่มเย็น และการฝึกฝนพัฒนาตนเอง จึงใช้แนวทางที่ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ไว้สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ กล่าวคือ
“กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง”,
“เป็นอยู่อย่างง่าย มุ่งกระทำสิ่งที่ยาก” และ
ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด ดังนี้
รับประทานอาหารวันละ ๒ มื้อ (งดเว้นเนื้อสัตว์) วันที่ ๖ ของการอบรม จัดให้ฝึกเข้าอยู่อุโบสถศีล โดยรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว
ฝึกหัดการนอนด้วยหมอนไม้ พร้อมเครื่องนอนที่เรียบง่ายที่สุด ฝึกการใช้ชีวิตเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้า
ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองโดยลำพัง เพื่อให้สามารถศึกษา เรียนรู้ เข้าใจ ภาวะจิตใจของตัวเองได้อย่างเต็มที่ตลอดเวลา
ใช้เวลาของชีวิตให้คุ้มค่ามากที่สุด ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม และฝึกฝนอบรมตนเองตลอดเวลาของการอบรม
ใช้ชีวิตด้วยความสงบเย็น ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดเร่งร้อน ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อเรียนรู้สภาวะแห่งความสมดุลพอเหมาะพอดี ในทุก ๆ การกระทำแห่งการดำเนินชีวิต

การเตรียมตัว
ท่านควรศึกษาระเบียบข้อปฏิบัติการเป็นอยู่และตารางเวลากิจกรรมให้เข้าใจอย่างละเอียดชัดเจน เพื่อให้ท่านสามารถปรับตัวดำเนินชีวิตแห่งการปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เกิดความวิตกกังวลใด ๆ
จัดการธุระส่วนตัวให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเริ่มกิจกรรม เพื่อตัดสิ่งที่จะกวนจิตใจของท่านตลอดระยะเวลา ๗ วันของการอบรม
หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาใด ๆ โปรดสอบถามอาสาสมัครผู้ทำหน้าที่ประสานการจัดอบรม เพื่อขจัดสิ่งรบกวนจิตใจท่านก่อนเริ่มการอบรม และเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดคุยให้มากที่สุดตลอดการอบรม

ข้อควรระลึก
ท่านที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม ควรระลึกเสมอว่า ท่านต้องการเข้าร่วมกิจกรรม อบรมพัฒนา ฝึกฝนตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนอบรมตนที่ยากลำบากบ้างเป็นธรรมดา โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเรียนรู้และปรับตัว จะต้องใช้ความอดทนและความเพียรเป็นอย่างสูง แต่จะนำมาซึ่งผลอันมีคุณค่าสูงยิ่งต่อการดำรงชีวิตอย่างมิอาจประเมินค่าได้ กรุณาอย่าเข้าร่วมอบรมเพื่อทดลองเล่น หรือหวังว่าจะได้อะไรดี ๆ โดยปราศจากการลงแรง หรือได้มาด้วยความสะดวกสบายเลย ท่านจะพบกับความผิดหวังอย่างแน่นอน โปรดตระหนักไว้เสมอว่า พระบรมศาสดาทรงตรัสรู้บรรลุสัจธรรมอันสูงสุด ในสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่อย่างธรรมชาติธรรมดาที่สุด มิได้ตรัสรู้ในพระราชวังอันแสนสะดวกสบาย ที่พระองค์ทรงสละละทิ้งออกมา
ท่านพร้อมแล้วหรือยัง ?

ข้อพึงปฏิบัติ
อยู่ร่วมตลอดการอบรม เข้าร่วมทุกรายการและตรงต่อเวลา
งดติดต่อบุคคลภายนอก และไม่ออกนอกบริเวณที่อบรม
งดการพูดคุยกับผู้ปฏิบัติอื่น มีปัญหากรุณาถามวิทยากร หรือเจ้าหน้าที่
ไม่นำอาหาร หรือของกินอย่างอื่นติดตัวมา ควรรับประทานอาหารเฉพาะที่จัดให้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างง่าย
ตั้งใจปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง ด้วยความกระตือรือร้น
ไม่คาดหวังเกินไปจนเคร่งเครียด ปฏิบัติด้วยความผ่อนคลาย
งดส่งเสียงดังทุกกรณี และมีความเกรงใจผู้อื่น
มีสติในทุกอิริยาบถ ทำงานและกิจวัตรทุกอย่างให้เป็นการปฏิบัติธรรม
งดใช้เครื่องประดับของมีค่า และไม่ควรนำติดตัวมา

ของใช้จำเป็นที่ต้องนำมา
เสื้อตัวยาวคลุมสะโพก ไม่รัดรูป ไม่บาง ไม่ใช้เสื้อแขนกุด
ผ้าถุงหรือกางเกงขายาว สีสุภาพ งดนุ่งกางเกงขาสั้น
ผ้าสำหรับใส่เวลาอาบน้ำ มีสีเข้ม ๒ ผืน (ชาย-ผ้าขาวม้า, หญิง-ผ้าถุง)
ยาทากันยุง
ยา (หากมีโรคประจำตัว)
ร่ม
ถุงย่าม หรือถุงผ้า (งดใช้ถุงพลาสติก)

กำหนดการ
วันที่ ๑๙
๐๘.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. ลงทะเบียน เข้าห้องพัก
๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. นำชมสถานที่ และระเบียบความเป็นอยู่
๑๗.๐๐ - ๑๘.๑๕ น. ดื่มน้ำปานะ และพักตามอัธยาศัย
๑๙.๐๐ - ๑๙.๓๐ น. ทำวัตรสวดมนต์เย็น
๑๙.๓๐ - ๒๑.๐๐ น. ชี้แจงรายละเอียดการอบรม
๒๑.๐๐ - ๐๔.๐๐ น. พักผ่อน



วันที่ ๒๐-๒๖ (อาจมีการปรับเล็กน้อยในบางวัน)
๐๔.๓๐ - ๐๕.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์เช้า
๐๕.๐๐ - ๐๖.๐๐ น. ธรรมรับอรุณ
๐๖.๐๐ – ๐๗.๐๐ น. กายบริหาร
๐๗.๐๐ - ๐๗.๓๐ น. ฝึกปฏิบัติอานาปานสติภาวนา
๐๗.๓๐ - ๐๙.๑๕ น. อาหารเช้า งานอาสาสมัคร พักผ่อน
๐๙.๓๐ - ๑๐.๓๐ น. ธรรมปฏิสันถาร
๑๐.๓๐ - ๑๑.๓๐ น. ธรรมบรรยาย
๑๑.๓๐ - ๑๓.๑๕ น. อาหารกลางวัน และพักตามอัธยาศัย
๑๓.๓๐ - ๑๔.๓๐ น. เทปอานาปานสติ
๑๔.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ฝึกปฏิบัติอานาปานสติภาวนา
๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. แนะนำเทคนิคการปฏิบัติ
๑๗.๐๐ - ๑๘.๔๕ น. ดื่มน้ำปานะ และพักตามอัธยาศัย
๑๙.๐๐ - ๑๙.๓๐ น. ทำวัตรสวดมนต์เย็น
๑๙.๓๐ – ๒๑.๐๐ น. ฝึกปฏิบัติอานาปานสติภาวนา.
๒๑.๐๐ - ๐๔.๐๐ น พักผ่อน (ไฟฟ้าดับ ระหว่างเวลา ๒๑.๓๐-๐๔.๐๐ น.)



วันที่ ๒๗
๐๔.๓๐ - ๐๕.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์เช้า
๐๕.๐๐ - ๐๖.๐๐ น. ธรรมรับอรุณ
๐๖.๐๐ - ๐๘.๐๐ น. นำชม ธรรมาศรมธรรมมาตา และ ธรรมาศรมธรรมทูต
๐๙.๐๐ น. เดินทางกลับ หรือข้ามไปอาคารธรรมทานดูหนังสือและสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับธรรมบรรยาย แล้วเข้าไปทัศนศึกษาในสวนโมกข์ฝั่งที่เป็นวัด



คุณสมบัติของผู้รับการอบรม
อายุระหว่าง ๒๐-๖๕ ปี (จะพิจารณารับผู้ที่อายุต่ำหรือสูงกว่านี้ ตามความเหมาะสม)
ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
มีความตั้งใจจริง และมีความศรัทธาที่จะรับการอบรม
พร้อมและเต็มใจรักษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนด โดยเฉพาะการงดพูดคุยสนทนาตลอดเวลาทั้ง ๗ วัน