วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

วัดอัมพวัน สิงห์บุรี



การเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน

ท่านสามารถจะเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันได้ โดยทางรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารประจำทางที่ท่าขนส่งสายเหนือ (หมอชิต)

เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ

ขับรถยนต์ส่วนตัวจากในตัวเมืองกรุงเทพฯ ออกได้หลายทาง เช่น เส้นถนนวงแหวนไปบางปะอิน หรือไปเส้นถนนพหลโยธิน ผ่านรังสิต เลี้ยวซ้ายตัดเข้าถนนสายเอเซีย ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เข้าอำเภอพรหมบุรี จนกระทั่งถึงป้ายแนวเขตค่ายพม่า (ซ้ายมือ) และจะเห็นป้ายวัดอัมพวัน (ซ้ายมือ) ให้ขับเลี้ยวซ้ายตรงเข้าไปเรื่อย ๆ ประมาณ ๑ ก.ม. ท่านก็จะถึงวัดอัมพวันครับ

เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง

โดยสารรถประจำทางไปจังหวัดสิงห์บุรี หรือ จังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่เลยขึ้นไปทางเหนือ โดยมีเส้นทางผ่านถนนสายเอเซีย ที่ท่าขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) ท่านสามารถบอกเจ้าหน้าที่ประจำรถโดยสารว่า ให้จอดหน้าวัดอัมพวัน ก็จะได้รับความสะดวกครับ หลังจากลงรถประจำทางแล้ว ท่านยังสามารถใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง จากปากทางเข้าวัดไปยังวัดอัมพวันได้ครับ หรือท่านจะออกกำลังกายด้วยการเดินก็ได้ครับ ระยะทางแค่ ๑ ก.ม.

ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม

ณ สำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ วัดอัมพวัน อ. พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี

ผู้ที่สมัครเข้ามาปฏิบัติธรรม ณ สำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ ควรทำความเข้าใจ ในระเบียบปฏิบัติ ดังนี้

๑. ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องแจ้งความจำนงต่ออาจารย์ผู้ปกครอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวก และรับลงทะเบียนโดยจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสับเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่จัดที่พัก แนะนำขั้นตอนแก่ผู้มาใหม่

๒. ต้องแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรในใบสมัคร ซึ่งทางสำนักจัดเตรียมไว้ให้ ต้องมีบัตรประชาชน หรือใบสำคัญแสดงสัญชาติ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี เพื่อแสดงแก่อาจารย์ ผู้ปกครองของสำนักจนเป็นที่พอใจ

๓. จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า จะอยู่ปฏิบัติกี่วัน ถ้าหากท่านเป็นผู้มาใหม่ ยังไม่เคยรับการฝึกปฏิบัติที่วัดอัมพวัน ควรอยู่ปฏิบัติอย่างน้อย ๓ วัน ส่วนท่านที่เคยรับการฝึกปฏิบัติแล้วควรอยู่ปฏิบัติให้ครบ ๗ วัน และปฏิบัติอยู่ในระเบียบที่กำหนดของสำนัก ส่วนผู้ที่มีความประสงค์อยู่ต่อ หลังจากปฏิบัติครบ ๗ วันแล้ว ให้ขออยู่ต่อเป็นกรณี ๆ ไป

๔. ผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ซึ่งไม่มีผู้ปกครองมาด้วย (ยกเว้นได้รับอนุญาต) ผู้ป่วยโรคจิต โรคติดต่อ โรคที่สังคมรังเกียจ หรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ และผู้ที่บวชเพื่อแก้บน ทางสำนักไม่สามารถรับไว้ปฏิบัติธรรมได้

๕. หากนักปฏิบัติยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับอนุญาตจากมารดา บิดา สามี หรือผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรในใบสมัคร

๖. สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน ในช่วงเช้าหรือก่อน ๑๗.๐๐ น. ควรเข้าที่พักเพื่อพักผ่อน หรือทำกิจต่าง ๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน เมื่อถึงเวลาห้าโมงเย็น จึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดปฏิบัติธรรมสีขาวแบบสุภาพเรียบร้อย ไม่มีลวดลายหรือเครื่องประดับ และไม่สวมลูกประคำ เมื่อท่านแต่งชุดขาวแล้ว ห้ามออกไปนอกเขตภาวนา และห้ามไปรับประทานอาหาร

๗. ให้ผู้ปฏิบัติมาพร้อมกัน ณ ศาลาคามวาสี (ศาลาหลวงพ่อเทพนิมิต) อยู่ตรงข้ามศาลาลงทะเบียน เวลา ๑๘.๐๐ น. หรือที่นัดหมาย ที่เจ้าหน้าที่จัดตามความเหมาะสม เพื่อทำพิธีขอศีลแปด จากพระภิกษุที่ได้รับนิมนต์ไว้ โดยเจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียม ดอกไม้ธูปเทียนไว้ให้ผู้ปฏิบัติใช้ในพิธี

๘. การปฏิบัติธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ช่วงในแต่ละวันดังนี้

ช่วงแรก ๐๔.๐๐ น. - ๐๖.๓๐ น.

ช่วงที่สอง ๐๘.๐๐ น. - ๑๑.๐๐ น.

ช่วงที่สาม ๑๓.๐๐ น. - ๑๗.๐๐ น.

ช่วงที่สี่ ๑๘.๓๐ น. - ๒๑.๐๐ น.

๙. ผู้ปฏิบัติต้องมาพร้อมกันที่ศาลาปฏิบัติของสำนัก ตามเวลาที่กำหนดโดยฟังจากสัญญาณระฆัง ใช้ศาลาเป็นที่นั่งกรรมฐาน และบริเวณรอบนอกศาลาเป็นที่เดินจงกรม

๑๐. ขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติมาพร้อมกันตามเวลาในการปฏิบัติช่วงแรก ณ สถานที่ปฏิบัติแล้ว หัวหน้าจุดเทียนธูปบูชา พระรัตนตรัย นำสวดมนต์ กราบพระประธานแล้ว จึงเริ่มปฏิบัติธรรม โดยการเดินจงกรมก่อน ๓๐ นาที แล้วเปลี่ยนอิริยาบถ เข้ามานั่งกรรมฐาน ๓๐ นาที สลับกันไปจนครบเวลาปฏิบัติที่กำหนด ส่วนเวลาในการปฏิบัติ ๓๐ นาที ที่กำหนดนี้ ผู้ปฏิบัติอาจปรับ ให้มากหรือน้อยกว่า ๓๐ นาที ตามความเหมาะสมของสภาวะอารมณ์

๑๑. ก่อนถึงเวลาพักทุกช่วง ผู้ปฏิบัติธรรมควรอยู่ในอิริยาบถ ของการนั่งกรรมฐาน ทั้งนี้เพราะเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติในแต่ละช่วง จะได้แผ่เมตตาต่อไปได้ โดยไม่เสียสมาธิจิต

๑๒. เมื่อแผ่เมตตา (สัพเพ สัตตา...) เสร็จแล้ว นั่งพับเพียบประนมมือ เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญในการปฏิบัติธรรมแก่มารดา บิดา ญาติพี่น้อง เทวดา เปรต และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (อิทัง เม มาติปิตูนัง โหตุ....) จากนั้นลุกขึ้นนั่งคุกเข่า สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย (อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา....) กราบพระประธาน

ขั้นตอนในการปฏิบัติจะเป็นเช่นเดียวกันในทุกช่วง เว้นแต่การจุดเทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัยในช่วยที่ ๒-๓-๔ ไม่มี เพราะได้บูชาแล้วในช่วงแรก

๑๓. การให้ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติที่มาใหม่ อาจารย์หรือหัวหน้า ผู้ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้ให้คำแนะนำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น ส่วนการทดสอบอารมณ์ตลอดจนความรู้ที่ละเอียดขึ้น ทางอาจารย์ใหญ่ จะเป็นผู้ให้ความรู้หลังจากปฏิบัติธรรม ช่วงแรกเสร็จเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่เข้าใจ หากมีข้อสงสัยใด ๆ อาจใช้ช่วงเวลานี้สอบถามขอความรู้ได้

๑๔. ห้ามคุย บอก หรือ ถามสภาวะกับผู้ปฏิบัติ เพราะจะเป็นภัย แก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยจะทำให้อารมณ์ฟุ้งซ่าน และเพ้อเจ้อ หากมีความสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติอย่างไรแล้ว ให้เก็บไว้สอบถามครูผู้สอน ห้ามสอบถามผู้ปฏิบัติด้วยกันเป็นอันขาด

๑๕. ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ก็ให้พูดเบา ๆ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ไม่ควรพูดนาน เพราะจะทำให้ฟุ้งซ่าน ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง และทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า

๑๖. ถ้ามีเรื่องจะพูดกันนาน ต้องออกจากห้องกรรมฐาน ไปพูดในสถานที่อื่น ห้ามใช้ห้องปฏิบัติรับแขก

๑๗. ขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ ห้ามอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เรียนหนังสือ ฟังวิทยุ ดูทีวี ตลอดจนสูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก

๑๘. ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่เสพเครื่องดองของมึนเมา หรือ นำยาเสพติด ทุกชนิด เข้ามาในบริเวณสำนักเป็นอันขาด

๑๙. นักปฏิบัติต้องระลึกเสมอว่า เรามาปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตใจ ขัดเกลากิเลสตัณหาให้เบาบางลง มิใช่มาเพื่อหาความสุข ในการอยู่ดี กินดี จึงต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษต่อความไม่สะดวก และสิ่งที่กระทบกระทั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องทดสอบ ความอดทนและคุณธรรมของนักปฏิบัติว่ามีอยู่มาน้อยเพียงใด

นักปฏิบัติต้องเข้าอบรม รับศีล ประชุมพร้อมกันในอุโบสถ หรือ ศาลาที่จัดไว้ตามความเหมาะสมกับจำนวนนักปฏิบัติ ในวันพระ

หากผู้ปฏิบัติเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ให้รีบแจ้งแก่เจ้าหน้าที่โดยเร็ว เพื่อหาทางช่วยเหลือตามสมควรแก่กรณี ไม่ควรละการปฏิบัติ ในเมื่อไม่มีความจำเป็น

ห้องหรือกุฏิที่จัดไว้เป็นห้องปฏิบัติ เฉพาะพระสงฆ์ก็ดี หรือห้องที่จัดไว้เฉพาะนักปฏิบัติที่เป็นบุรุษก็ดี สตรีก็ดี ห้ามมิให้เพศตรงข้ามเข้าไปนอน หรือใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมนั้นเด็ดขาด

๒๐. ทุกวันอุโบสถ (วันพระ) ในช่วงบ่ายให้ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าปฏิบัติธรรม ณ สถานที่ ที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ โดยมาพร้อมกัน ณ กุฏิอาจารย์ใหญ่ เวลา ๑๓.๓๐ น. อาจารย์ใหญ่จะเป็นผู้นำไป และเริ่มปฏิบัติตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น. หลังจากนั้นหลวงพ่อ พระราชสุทธิญาณมงคล จะลงสวดมนต์ทำวัตรเย็น ประกอบพิธี ให้กรรมฐานแก่ผู้ปฏิบัติที่มาใหม่ และแสดงพระธรรมเทศนา

๒๑. การเข้านั่งในอุโบสถ ให้ผู้ปฏิบัติธรรมนั่งหันหน้าไปทางพระประธาน โดยสังเกตการนั่งให้เป็นแถวขนานไปกับพระสงฆ์

๒๒. เมื่อถึงบริเวณพิธี ให้คอยสังเกตสัญญาณการนั่ง การกราบ จากอาจารย์ผู้นำ ทั้งนี้เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบและเจริญตา แก่ผู้พบเห็น

๒๓. การออกนอกบริเวณสำนักโดยการพิธีทุกครั้ง อาจารย์ผู้ปกครองจะเป็นผู้นำทั้งไปและกลับ ให้เดินเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง ตามลำดับอาวุโส ด้วยอาการสงบสำรวม

๒๔. นักปฏิบัติจะต้องอยู่ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น ถ้าไม่มีธุระจำเป็น ไม่ควรออกนอกสถานที่ปฏิบัติ และถ้ามีธุระจำเป็นต้องออกนอกสำนัก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเสียก่อน

๒๕. ทางสำนักได้จัดที่พักไว้โดยเฉพาะเป็นห้อง ๆ มีไฟฟ้า น้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วมพร้อม ขอความร่วมมือได้โปรดช่วยกันรักษาความสะอาดในห้อง หน้าห้อง ห้องน้ำ ห้องส้วม และขอให้ใช้น้ำ ไฟ อย่างประหยัด

๒๖. ไม่ควรเปิดน้ำ ไฟฟ้า และพัดลมทิ้งไว้เมื่อไม่อยู่ในห้องพัก

๒๗. เวลาว่างตอนเช้า ตอนกลางวัน หรือตอนเย็น ผู้ปฏิบัติธรรม อาจใช้เวลาว่าง ทำความสะอาดกวาดลานภายในเขตสำนักและบริเวณที่พัก เพื่อความสะอาดของสถานที่และเจริญสุขภาพของผู้ปฏิบัติ

๒๘. การรับประทานอาหารมี ๒ เวลา และดื่มน้ำปานะ ๑ เวลาดังนี้

๐๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า

๑๑.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน

๑๗.๐๐ น. ดื่มน้ำปานะ

๒๙. การรับประทานอาหารและดื่มน้ำปานะทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติธรรม ต้องมารับประทาน พร้อมกันที่โรงอาหารตรงตามเวลาที่กำหนด

๓๐. เมื่อตักอาหารใส่ภาชนะแล้ว ให้เข้านั่งประจำที่ให้เป็นระเบียบ ควรนั่งให้เต็มเป็นโต๊ะ ๆ ไปก่อน โดยผู้ไปถึงก่อนต้องนั่งชิด้านในก่อนเสมอ เมื่อเต็มแล้ว จึงเริ่มโต๊ะใหม่ต่อไป รอจนพร้อมเพรียงกัน แล้วหัวหน้าจะกล่าวนำ ขออนุญาตรับประทานอาหาร

๓๑. ขณะนั่งรอและรับประทานอาหาร ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ควรคุยกันหรือแสดงอาการใด ๆ ที่ไม่สำรวม

๓๒. เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ให้นั่งรออยู่ที่เดิม จนทุกคนรับประทานอาหารเสร็จ ให้ประนมมือ หัวหน้าจะให้พรผู้บริจาคอาหาร (สัพพี ฯลฯ..) ผู้ปฏิบัติธรรมสวดรับโดยพร้อมเพรียงกัน

๓๓. เมื่อเสร็จจากการรับประทานอาหาร ให้ผู้ปฏิบัติธรรมช่วยกันเก็บกวาดสถานที่ ทำความสะอาดภาชนะ จัดโต๊ะ เก้าอี้ ให้เรียบร้อย

๓๔. นักปฏิบัติจะต้องไม่นำของที่มีค่าติดตัวมาด้วย หากสูญหาย ทางสำนักจะไม่รับผิดชอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

๓๕. นักปฏิบัติจะต้องไม่คะนองกาย วาจา หรือส่งเสียงก่อความรำคาญ หรือพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยไม่มีความจำเป็น ถ้ามีผู้มาเยี่ยม จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน การเยี่ยมนั้นให้แขกคุยได้ไม่เกิน ๑๕ นาที ถ้าเป็นแขกต่างเพศ ให้ออกไปคุยข้างนอกสถานที่ปฏิบัติธรรม

๓๖. การลา เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม ได้ปฏิบัติครบตามกำหนดที่ได้แจ้งความจำนงไว้แล้วนั้น เจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อทำพิธีลาศีล และขอขมาพระรัตนตรัย ให้ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะลาศีล พร้อมกัน ณ ที่นัดหมาย (ฟังประกาศจากเจ้าหน้าที่) โดยอาจารย์ผู้ปกครองเป็นผู้นำไป

อนึ่ง ทางสำนักจะงดพิธีรับศีลในวันโกน และไม่มีพิธีลาศีลในวันพระ ดังนั้น ท่านที่มาลงทะเบียนเข้าปฏิบัติธรรมในวันโกน จะได้เข้ารับพิธีรับศีลในวันพระ ส่วนที่ที่จะลากลับในวันพระ หรือวันถัดจากวันพระ จะต้องเข้าลาศีลล่วงหน้า แต่คงปฏิบัติธรรมได้ตามปกติ จนถึงกำหนดวันที่ท่านได้แจ้งไว้ในใบลงทะเบียน

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องลากลับก่อนกำหนดนั้น ผู้ปฏิบัติต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้ปกครองทราบสาเหตุ และหากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรหนีกลับไปโดยพลการ เพราะจะเป็นผลเสียต่อผู้ปฏิบัติ

๓๗. ถ้านักปฏิบัติผู้ใด ไม่ทำตามระเบียบของสำนักที่กำหนดไว้นี้ ทางสำนักจำเป็นต้องพิจารณาเตือนให้ทราบก่อน หากยังไม่ยอมรับฟัง ทางสำนักมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอให้ออกจากสำนัก ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ที่จะเข้ามาปฏิบัติต่อไป

๓๘. ข้อแนะนำนี้ เป็นคู่มือให้รายละเอียดในแนวทางปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมจะได้เข้าใจ สบายใจในการอยู่อาศัยและปฏิบัติกรรมฐาน ร่วมกันอย่างสงบ ในสังคมของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมประหยัดการพูด โอกาสที่ท่านจะถามระเบียบหรือโอกาสที่จะมีผู้อธิบายแนะนำแก่ท่านมีน้อย คู่มือนี้ จะช่วยท่านได้เป็นอย่างดี

กำหนดเวลาการปฏิบัติธรรม

เช้า ๐๓.๓๐ น. ตื่นนอน พร้อมกัน ณ สถานที่ปฏิบัติธรรม

สวดมนต์ทำวัตรเช้า (แปล)

เดินจงกรม นั่งกรรมฐาน

๐๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า

๐๘.๐๐ น. สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งกรรมฐาน ที่สถานที่ปฏิบัติ

๑๑.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน

บ่าย ๑๓.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งกรรมฐาน ที่สถานที่ปฏิบัติ

๑๗.๐๐ น. ดื่มน้ำปานะ พักผ่อน

ค่ำ ๑๘.๓๐ น. เดินจงกรม นั่งกรรมฐาน ที่ศาลาปฏิบัติ

สวดมนต์ทำวัตรเย็น (แปล)

๒๑.๓๐ น. สอบอารมณ์

๒๓.๐๐ น. พักผ่อน นอน

วันพระ ภาคเช้า

ภาคบ่าย

ภาคค่ำ

การเตรียมตัวไปปฏิบัติธรรม

การเตรียมตัวไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน ผู้ปฏิบัติควรจะเตรียมตัวดังต่อไปนี้

1. ชุดปฏิบัติธรรมสีขาว

ชาย กางเกงขายาวสีขาว เสื้อแขนสั้นสีขาว

หญิง เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าถุงสีขาว สไบสีขาว

2. ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น (ควรงดเว้นการสวมใส่เครื่องประดับ)

แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ เป็นต้น

3. ตั้งใจไปปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล ได้เป็นผู้อนุเคราะห์ในเรื่องของที่พัก อาหาร พร้อม โดยท่านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ที่มา:ubmthai.com
www.bangkoktravel.siam.im

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น